ยินดีต้อนรับสู่ konEsan.page.tl ฅนอีสาน website ของฅนอีสาน เพื่อฅนไทยทุกฅน
konEsan ฅนอีสาน - ภูมิปัญญาท้องถิ่น
 

หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
สินค้าและบริการ
gallery
ภาคอีสาน
=> ข้อมูลภาคอีสาน
=> ภาษาอีสานวันละคำ
=> ภูมิปัญญาท้องถิ่น
=> อุบลราชธานี
webboard
board
ผู้เข้าชม
สมุดเยี่ยม
ติดต่อเรา
Link

       ภูมิปัญญาท้องถิ่น
       
       ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมายถึง การเอาทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งอาจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน หรือเป็นลักษณะสากลที่หลายๆ ท้องถิ่นมีคล้ายกันก็ได้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น  เกิดจากการที่ชาวบ้านแสวงหาความรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติ ทางสังคมที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น
       การประกอบประเพณี พิธีกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้กระทำสบายใจ รู้สึกอบอุ่นไม่โดดเดี่ยว ให้คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึกถือว่าเป็นพลังทางศีลธรรมหรือประเพณี การรวมกำลังช่วยกันทำงานที่ใหญ่หลวงเกินวิสัยที่จะทำได้สำเร็จคนเดียว เช่น การลงแขกสร้างบ้าน สร้างวัด สร้างถนนหนทาง หรือขุดลอกแหล่งน้ำ เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันภายในชุมชน ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยทั่วไปภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นประโยชน์แก่คนทุกระดับ มีลักษณะเด่นคือสร้างสำนึกเป็นหมู่คณะสูงทั้งในระดับครอบครัวและเครือญาติ 
       
       ถึงแม้ผู้คนไม่น้อยเห็นว่าชุมชนอีสาน เป็นดินแดนแห่งความโง่ ความจน ความเจ็บไข้ได้ป่วยอันน่าเวทนา แท้ที่จริงไม่มีมนุษย์ผู้ใดและสังคมใด  ที่ปล่อยให้วันเวลาผ่านเลยโดยไม่สั่งสมประสบการณ์ หรือไม่เรียนรู้อะไรเลยจากช่วงชีวิตหนึ่งของตน ไม่ว่าในภาวะสุขหรือทุกข์ คนอีสานได้ใช้สติปัญญาสั่งสมความรู้ ดังจะเห็นได้จากภาษิตอีสาน (ผญาก้อม) จำนวนไม่น้อยที่แสดงทัศนะชื่นชมคุณค่าของความรู้ในการประกอบอาชีพ และค่านิยมประการหนึ่งของชาวอีสานคือ ยกย่องความรู้และการใช้ความรู้อย่างมีคุณธรรม ดังความว่า 

• เงินเต็มภา บ่ท่อผญาเต็มปูม (ภา = ภาชนะ, ท่อ = เท่า, ผญา = ปัญญา, ปูม = ภูมิ)
• บ่มีความฮู้อย่าเว้าการเมือง บ่นุ่งผ้าเหลืองอย่าเว้าการวัด (ความฮู้ = ความรู้, เว้า = คุย)
• เกิดเป็นคนให้เฮียนความฮู้ เฮ็ดซู่ลู่เขาบ่มียำ (เฮียน = เรียน, เฮ็ดซู่ลู่ = ทื่อมะลื่อ, ยำ = เคารพ,ยำเกรง)
• ให้เอาความฮู้หากินทางชอบ ความฮู้มีอยู่แล้ว กินได้ชั่วชีวัง
• บ่ออกจากบ้าน บ่เห็นด่านแดนไกล บ่ไปหาเฮียน ก็บ่มีความฮู้
• แม้นสิมีความฮู้เต็มพุงเพียงปาก สอนโตเองบ่ได้ ไผสิย่องว่าดี (โตเอง = ตนเอง, ย่อง = ยกย่อง)  
      
        ผู้ที่สามารถประกอบการงานได้ผลดี  โดยใช้ภูมิปัญญา   ชาวอีสาน เรียกว่า หมอ เช่น หมอมอ คือผู้รอบรู้ด้านโหราศาสตร์ หมอว่าน คือ ผู้รอบรู้ด้านสมุนไพร หมอยา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค หมอลำ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการร้องลำนำประกอบแคน หมอผึ้ง คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการหาน้ำผึ้ง ผู้มีภูมิปัญญาทุกวิชาชีพได้รับการยกย่องจากชุมชนเสมอหน้ากัน ดังความว่า 

• ครั้นสิเป็นหมอว่านหมอยาหมอป่า
ครั้นสิเฮียนบีบเส้นเอ็นคั้นให้ส่วงดี
(บีบเส้น = การนวด, ส่วง = หาย)
หรือ
• สิเฮียนคงค้อนคงหลาวหอกดาบ
เฮียนให้เถิงขนาดแท้ดีถ้วนสู่อัน
หรือสิเฮียนหนังสือให้เฮียนไปสุดขีด
ครั้นแม้เฮียนแท้ให้เป็นคนฮู้สู่คน
(คนฮู้ = คนดี)
หรือ
• สิเฮียนเป็นหมอเต้น หมอตี หมอต่อย
ให้เฮียนแท้ๆ คนจ้างสู่วัน
หรือ
• สิเป็นหมอน้ำตึกปลาแหหว่าน
ทำให้ได้เต็มข้องสู่วัน
(ข้อง = เครื่องจักสานใช้ใส่ปลา)
หรือ
• สิเป็นหมอสร้างนาสวนฮั่วไฮ่
เอาให้ได้เกวียนซื้อแก่ขาย 

ผญา

       คนอีสานมีคำคม สุภาษิต  สำหรับสั่งสอนลูกหลานให้ประพฤติตนอยู่ในฮีตคอง (จารีต- ประเพณี) ไม่ออกนอกลู่นอกทาง คำคมเหล่านี้รู้จักกันทั่วไป ในชื่อ "ผญา" อันหมายถึง ปัญญา, ปรัชญา, ความฉลาด, คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง  
       ปัญญา ปรัชญา หรือผญา เป็นกลุ่มภาษาเดียวกัน มีความหมายคล้ายคลึงกัน ใกล้เคียงกันหรือบางครั้งใช้แทนกันได้ ซึ่งหมายถึง ปัญญา ความรู้ ไหวพริบ สติปัญญา ความเฉลียว ฉลาดปราชญ์เปรื่อง หรือบางท่านบอกว่า ผญา มาจากปัญญา โดยเอา ป เป็น ผ เหมือนกับ เปรต เป็น เผด โปรด เป็น โผด เป็นต้น ผญาเป็นลักษณะแห่งความคิดที่แสดงออกมาทางคำพูด ซึ่งอาจ จะมีสัมผัสหรือไม่ก็ได้ 
     
       ผญา คือ คำคม สุภาษิต หรือคำพูดที่เป็นปริศนา คือฟังแล้วต้องนำมาคิด มาวิเคราะห์ เพื่อค้นหาคำตอบที่เป็นจริงและชัดเจนว่า หมายถึงอะไร
       ผญา เป็นคำพูดที่คล้องจองกัน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีสัมผัสเสมอไป แต่เวลาพูดจะ ไพเราะสละสลวย และในการพูดนั้นจะขึ้นอยู่กับจังหวะหนักเบาด้วย
       ผญา เป็นการพูดที่ต้องใช้ไหวพริบ สติปัญญา มีเชาวน์ มีอารมณ์คมคาย พูดสั้น  แต่กินใจความมาก 
       
       การพูดผญาเป็นการพูดที่กินใจ การพูดคุยด้วยคารมคมคาย ซึ่งเรียกว่า ผญา นั้น ทำให้ผู้ฟังได้ทั้งความรู้และความคิดสติปัญญา ความสนุกเพลิดเพลิน ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้เกิด ความรักด้วย จึงทำให้หนุ่มสาวฝนสมัยก่อน นิยมพูดผญากันมาก และการโต้ตอบเชิงปัญญาที่ทำ ให้แต่ละฝ่ายเฟ้นหาคำตอบ เพื่อเอาชนะกันนั้นจึงก่อให้เกิดความซาบซึ้ง ล้ำลึกสามารถผูกมัด จิตใจของหนุ่มสาวไม่น้อย ดังนั้น ผญา จึงเป็นเมืองมนต์ขลัง ที่ตรึงจิตใจหนุ่มสาวให้แนบแน่น ลึกซึ้งลงไป
       ภาษิตโบราณอีสานแต่ละภาษิตมีความหมายลึกบ้าง ตื้นบ้าง หยาบก็มี ละเอียด ก็มี ถ้าท่านได้พบภาษิตที่หยาบ ๆ โปรดได้เข้าใจว่า คนโบราณชอบสอนแบบตาเห็น ภาษิตประจำ ชาติใด ก็เป็นคำไพเราะเหมาะสมแก่คนชาตินั้น คนในชาตินั้นนิยมชมชอบว่าเป็นของดี ส่วนคน ในชาติอื่น อาจเห็นว่าเป็นคำไม่ไพเราะเหมาะสมก็ได้ ความจริง "ภาษิต" คือรูปภาพของวัฒนธรรม แห่งชาติ นั่นเอง 

การจ่ายผญา หรือการแก้ผญา

       การจ่ายผญา แก้ผญา เว้าผญา หรือพูดผญา คือการตอบคำถาม ซึ่งมึผู้ถามมาแล้ว ก็ตอบไป เป็นการพูดธรรมดา ไม่มีการเอื้อนเสียง ไม่มีทำนอง แต่เป็นจังหวะ มีวรรคตอนเท่านั้น ผู้ถามส่วนใหญ่จะเป็นหมอลำฝ่ายชาย คือลำเป็นคำถาม ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายตอบ หรือจ่ายผญา ด้วยเหตุนี้จึงมักจะเรียกว่า ลำผญา หรือลำผญาญ่อย เช่น 
       
       (ชาย) ..... อ้ายนี้อยากถามข่าวน้ำ ถามข่าวถึงปลา อยากถามข่าวนา ถามข่าวถึงเข้า (ข้าว) อ้ายอยากถามข่าวน้อง ว่ามีผัวแล้วหรือบ่ หรือว่ามีแต่ชู้ ผัวสิซ้อนหากบ่มี
       (หญิง) ..... น้องนี้ปอดอ้อยซ้อยเสมอดังตองตัด พัดแต่เป็นหญิงมา บ่มีชายสิมาเกี้ยว พัดแต่สอนลอนขึ้น บ่มีเครือสิเกี้ยวพุ่ม พัดแต่เป็นพุ่มไม้เครือสิเกี้ยวกะบ่มี 

       หมอผญาที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ คือ แม่ดา ซามงค์ แม่สำอางค์ อุณวงศ์ แม่เป๋อ พลเพ็ง แม่บุญเหลื่อม พลเพ็ง แห่งบ้านดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น
       การลำและจ่ายผญา ในสมัยโบราณนั้นจะนั่งกับพื้น คือ หมอลำ หมอผญาและหมอแคน จะนั่งเป็นวง ส่วนผู้ฟังอื่น ๆ ก็นั่งเป็นวงล้อมรอบ หมอลำบางครั้งจะมีการฟ้อนด้วย ส่วนผู้จ่ายผญา จะไม่มีการฟ้อน ในบางครั้งจะทำงานไปด้วยแก้ผญาไปด้วย เช่น เวลาลงข่วง หมอลำชายจะลำ เกี้ยว ฝ่ายหญิงจะเข็นฝ้ายไปแก้ผญาไป นอกจากหมอลำ หมอแคนแล้ว บางครั้งจะมีหมอสอยทำ การสอยสอดแทรกเป็นจังหวะไป ทำให้ผู้ฟังได้รับความสนุกสนาน การจ่ายผญาในครั้งแรก ๆ นั้น เป็นการพูดธรรมดา ไม่มีการเอื้อนเสียงยาว และนั่งพูดจ่ายตามธรรมดา ต่อมาได้มีการดัดแปลง ให้มีการเอื้อนเสียงยาว มีจังหวะและสัมผัสนอกสัมผัสในด้วย ทำให้เกิดความไพเราะ และมีการเป่า แคนประกอบจนกลายมาเป็น "หมอลำผญา" ซึ่งพึ่งมีขึ้นประมาณ 30-40 ปีมานี้ 
        
       เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปการพัฒนาของการจ่ายผญาจึงมีมากขึ้น จากการนั่งจ่ายผญา ซึ่งมองกันว่าไม่ค่อยถนัดและไม่ถึงอกถึงใจผู้ฟัง (ด้วยขาดการแสดงออกด้านท่าทางประกอบ) จึงมีการเปลี่ยนมาเป็นยืนลำ ทำให้มีการฟ้อนประกอบไปด้วย จากดนตรีประกอบที่มีเพียง แคน ก็ได้นำเอากลอง ฉิ่ง ฉาบ และดนตรีอื่น ๆ เข้ามาประกอบ จากผู้แสดงเพียง 2 คนก็ค่อย ๆ เพิ่มเป็น 3, 4 และ 5 คน จนมารวมกันเป็นคณะ เรียกว่า คณะหมอลำผญา บางคณะได้มีหางเครื่องเข้ามาประกอบด้วย 

ประเภทของผญา

       ผญาเมื่อแบ่งแยกหมวดหมู่ออกไปอย่างคร่าว ๆ ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
1. ผญาคำสอน
2. ผญาปริศนา
3. ผญาภาษิตสะกิดใจ
4. ผญาเกี้ยวพาราสีทั่วไป
5. ผญาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบหนุ่มสาว
6. ผญาหมวดภาษิตคำเปรียบเปรยต่างๆ
7. ผญาปัญหาภาษิต 


      
 
$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$ This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free